วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประวัติสุราษฎร์านี

ก่อนที่บ้านดอนจะได้กลายเป็นอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี มีประวัติความเป็นมาดังนี้ 

ดินแดนบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ที่เรียกว่าอ่าวบ้านดอน ในทุกวันนี้ นักโบราณคดีได้สันนิษฐานไว้ว่า มีผู้คนชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่กันมาแต่หนึ่งพันสี่ร้อยปีก่อนแล้ว ซึ่งก็คงตกประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 นั่นเอง ครั้งกระนั้นมีชาวอินเดียแล่นเรืองมาถึงเมืองตะกั่วป่าและ เดินทางเลาะเลียบลำน้ำตะกั่วป่าไปสู่เชิงเขาหลวง ข้ามเขาเดินเลียบริมแม่น้ำหลวงเรื่อยมาจนถึงปากอ่าวบ้านดอน ชาวอินเดียเป็นผู้มีวิชาความรู้เหนือชนพื้นเมือง จึงได้แพร่วัฒนธรรมของตนไว้ในดินแดนเหล่านี้ สมัยนั้นเป็นเวลาแห่งความรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งนักโบราณคดียังถกเถียงกันไม่เป็นที่ยุติว่า นครหลวงแห่งอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ในสุมาตราหรือที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีกันแน่ 

รอบอ่าวบ้านดอนมีเมืองสำคัญ ๆ อันเป็นที่มาของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบันอยู่หลายเมือง คือ เมืองไชยา เมืองท่าทองตั้งอยู่บริเวณริมน้ำท่าทองอุแท อยู่ในบริเวณอำเภอกาญจนดิษฐ์ ปัจจุบัน และเมืองคีรีรัฐนิคมตั้งอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำพุมดวง เดี่ยวนี้อยู่ในเขตอำเภอคีรีรัฐนิคมนั้นเอง 

เมืองทั่งสามนี้เป็นเมืองเก่าแก่อันเป็นต้นกำเนิดของจังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือบ้านดอนในวันนี้ 

ในหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ของกรมศิลปากร ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2509 มีข้อความตอนหนึ่งในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวไว้ว่า 

“เมื่อพระพนมวัดแลนางสะเคียงทอง และศรีราชาออกมาสร้างเมืองนครดอนพระนั้น และพระพนมวัง แลนางสะเคียนทองก็มาตั้งบ้านอยู่จงสระ อยู่นอกเมืองดอนพระ สร้างป่าเป็นนา สร้างนาทุ่งเขน สร้างนาท่าทอง สร้างนาไชยคราม สร้างนากะนอม สร้างนาสะเพียง อีกตอนหนึ่งกล่าวถึงเมืองท่าทองไว้ว่าพระยาศรีธรรมโศกราชก็ทูลกรุณา ว่า เมืองท่าทองใต้หล้าฟ้าเขียวนี้ ยากเงินทอง ข้าพเจ้าพระบาทอยู่หัวขอนำเงินเล็กติดตรานะโมแต่นี้ไปเมื่อหน้า ” 

ข้อความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเกี่ยวกับเมืองท่าทองนี้ไม่มีศักราชระบุไว้แน่นอน เมืองท่าทองนี้จะตั้งมาแต่ครั้งไหน แต่มีข้อความที่ชวนให้สืบสาวความเก่าแก่ของเมืองท่าทองได้ เมื่อตำนานนี้กล่าวถึงเงินนะโม อันเป็นตราที่ใช้ในสมัยโบราณก่อนหน้าที่จะเกิดกรุงศรีอยุธยาคือก่อน พ.ศ.1893 ในสมัยอยุธยาได้นำเงินพดด้วงเลียนแบบเงินตรานะโมที่เคยใช้ในสมัยก่อน ดังนั้น เมื่อเมืองท่าทองเกิดข้าวยากหมากแพง ยากเงินยากทอง เจ้าเมืองจึงนำเงินตรานะโมมาใช้ที่ท่าทอง เป็นอันสันนิษฐานได้ตามหลักโบราณคดีว่า เมืองท่าทองจะต้องเป็นเมืองมาแล้วในราวพุทธวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัย มีหลักฐานทางโบราณวัตถุ เก่าแก่อยู่หลายแห่ง เช่น ที่วัดคูหา วัดเสมา และวัดม่วงงาม เป็นต้น 

เมืองท่าทองเดิมทีเดียวตั้งอยู่ที่บ้านสะท้อน มีเรื่องเก่าแก่เป็นทำนองตำนานว่า สมัยเมื่อหลายปีมาแล้ว ริมคลองแห่งนี้มีต้นสะท้อนอยู่เป็นดง ต่อมานายมากชาวเมืองนครศรีธรรมราช อพยพผู้คนมาตั้งทำกินที่นี้จนมีฐานะร่ำรวย จึงเปลี่ยนชื่อบ้านสะท้อนเป็นบ้านท่าทอง โดยมีพระวิสูตรสงครามราชภักดี เป็นเจ้าเมืองครั้งต่อมาในปี พ.ศ. 2328 อันตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฎว่าพระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองภาคใต้ตั้งแต่เมืองชุมพร หลังสวน ไชยา จนมาถึงเมืองท่าทอง นครศรีธรรมราช หัวเมืองเหล่านี้ถูกพม่ายึดอยู่ระยะหนึ่ง สมเด็จบรมราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงนำกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปขับไล่จนหมดสิ้น 

แต่การทำสงครามในครั้งนี้ เมืองท่าทองถูกทำลายมากเกินกว่าที่จะบูรณะให้ดีได้ดังเดิมได้ดังนั้น หลังสงครามครั้งนี้ ผู้รั้งเมืองท่าทองอันมีนามว่า นายสม จึงได้ย้ายเมืองท่าทองจากบ้านสะท้อนมาที่บ้านกระแดะ (อันเป็นที่ตั้งอำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน) ยังคงเรียกว่าเมืองท่าทองตามเดิม นายสม ผู้ตั้งไว้ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิเศษ ครองเมืองท่าทองอยู่ที่ริมคลองกะแดะ ไม่นานก็พิจารณาย้ายเมืองมาอยู่ที่คลองมะขามเตี้ย อำเภอเมืองในปัจจุบัน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2336 หลวงวิเศษได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระวิสูตร ครองเมืองท่าทองจนถึงปี พ.ศ. 2375 ก็ถึงแก่กรรม บุตรชายพระวิสูตรได้ครองเมืองแทนมีบรรดาศักดิ์เป็นพระพิทักษ์สุนทร 

ในระหว่างเมืองท่าทองมาตั้งอยู่ริมแม่น้ำมะขามเตี้ยนี้เอง ชุมชนแห่งใหม่ได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ บริเวณที่ดอนริมแม่น้ำหลวง สถานที่แห่งนี้เจ้าพระยานครได้ส่งคนมาต่อเรือกำปั่นเดินทะเล หาไม่ได้ง่ายจากริมแม่น้ำหลวง เนื่องจากบริเวณเป็นที่ดอนนี่เอง ชาวบ้านก็เลยเรียกกันว่า บ้านดอน ส่วนทางด้านเมืองท่าชนะนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานคร(น้อย) ได้ส่งบุตรชายชื่อพุ่มมาเป็นเจ้าเมือง พอถึงรัชการสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงแก่อสัญญกรรมแล้วในวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2458 วันนั้นนับเป็นวันสำคัญของชาวเมืองไชยา ดังจดหมายเหตุระยะทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลปักษ์ใต้ พุทธศักราช 2458 บันทึกไว้ว่า 

“วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 วันนี้มีกระแสพระบรมราชองการดำรัสเหนือเกล้าสั่งผู้แทนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้ประกาศพระราชปรารภเรื่องที่บ้านดอนซึ่งเป็นเมืองไชยาใหม่ แลตั้งที่ว่าการมณฑลชุมพรอยู่นั้น ประชาชนก็คงเรียกว่าบ้านดอนอยู่ตามเดิม และเมืองไชยาเก่าซึ่งเปลี่ยนเรียกว่า อำเภอพุมเรียง แต่ราษฎรก็คงเรียกชื่อเดิม เมืองไชยาเป็นไชยาเก่า ไชยาใหม่ สับสนกันไม่เป็นที่ยุติลงในราชการ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองที่บ้านดอนใหม่ว่า เมืองสุราษฎร์ธานี เปลี่ยนอำเภอพุมเรียง เรียกว่า อำเภอเมืองไชยา เพราะเป็นชื่อเก่า.......” 

ในวันเดียวกันนี้เอง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนนามแม่น้ำหลวงเป็นแม่น้ำตาปี 

การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองไชยาที่บ้านดอนเป็นสุราษฏร์ธานี ก็เพราะทรงสังเกตเห็นว่า ชาวเมืองนี้เป็นคนดีสุภาพเรียบร้อย และการที่ทรงเปลี่ยนชื่อแม่น้ำหลวงเป็นตาปีนั้น เล่ากันว่า พระองค์ทรงนำแบบมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งตั้งต้นจากขุนเขาสัตตปุระ ไหลหงสู่มหาสมุทรอินเดียทางอ่าวแคมเบย์ ชื่อแม่น้ำตาปติ ทางฝั่งซ้ายก่อนที่แม่น้ำตาปติจะออกปากอ่าวนี้ มีเมืองเมืองหนึ่งชื่อเมืองสุรัฎร์ ตั้งอยู่ ด้วยเหตุนี้เมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นสุราษฎร์ธานี (สุรัฎร์) จึงทรงเปลี่ยนแม่น้ำหลวงเป็นตาปีด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น